Pages

Thursday, August 27, 2020

“อุดม” เมินร่วมแก้ รธน. ชี้หากแก้ต้องเป็นตามกลไก ม.256 ย้ำ ส.ส.ร.ควรมีผู้เชี่ยวชาญมายกร่างฯ ด้วย - ผู้จัดการออนไลน์

tisukerontang.blogspot.com


“อุดม ชี้หากแก้ รธน.ต้องเป็นตามกลไก ม.256 ย้ำ ส.ส.ร.ควรมีผู้เชี่ยวชาญมายกร่างฯ ด้วย ประกาศไม่ร่วมเป็นคณะแก้ไขหรือยกร่าง รธน.อีกเพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียเคยยกร่าง รธน.60 ย้ำ กรธ.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ทำตามความต้องการของตัวเองทั้งหมด ส.ว.เลือกนายกฯ มาจากคำถามพ่วงของ สนช.

วันนี้ (27 ส.ค.) นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเสนอญัตติแก้ไขมาตรา 256 เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสนอให้ยกเลิกมาตรา 269 ถึง 272 เกี่ยวกับ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหลักการต้องทำตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 วางหลักการไว้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องยากกว่ากฎหมายทั่วไป ต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 รวมถึงการเห็นชอบในวาระที่ 3 ต้องมีเสียงพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลหรือไม่มีประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และบางประเด็นอาจจะต้องทำประชามติ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะต้องคำนึงถึงจำนวนเสียงและความต้องการของสังคมด้วย

นายอุดมกล่าวว่า หลักการที่กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ยากกว่ากฎหมายปกติเป็นเรื่องธรรมดาของรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งประเทศสหรัฐอเมริกาก็ต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 เพียงแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 วางมาตรการว่านอกจากจะต้องมีเสียงข้างมากแล้ว จะต้องมีเสียง ส.ว.ที่เพิ่มมากขึ้นมาเป็นองค์ประกอบด้วย จึงเป็นที่มาของปัญหาที่อาจมองว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งต้องขอให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง 250 คน ให้ความเห็นชอบด้วย 84 เสียง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงจะผ่าน แต่การแก้ไขในทางความเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดกัน แต่ที่กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยากกว่าในอดีต เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้การแก้ไขอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนในระบบการเมือง จนเกิดการเดินขบวนประท้วง เกิดความขัดแย้งในสังคม หากจะให้สังคมเกิดความสมานฉันท์ จึงเห็นว่า ส.ว.มีความจำเป็นเข้ามาร่วมด้วย แต่ ส.ว.ที่ว่านี้ไม่ใช่ 250 คน ในบทเฉพาะกาล แต่เป็นตามบททั่วไป คือ ส.ว.ตามมาตรา 108 ที่เป็นตัวแทนของประชาชนจากกระบวนการเลือกกันเอง ส่วน ส.ว.250 คนเป็นสิ่งที่ คสช.ขอมาตามบทเฉพาะกาลระยะเวลา 5 ปี เพราะฉะนั้นถ้ามองในมุมความยากลำบากที่เกิดขึ้น มาจากความยากลำบากของบทเฉพาะกาล ไม่ใช่ความยากลำบากในสภาพปกติ ซึ่ง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร เห็นไปในทำนองว่า แค่เสียงข้างมากในรัฐสภาก็พอแล้ว เนื่องมีความรู้สึกว่า อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญแม้จะยากกว่าปกติ แต่ก็ไม่อยากจะให้ยากมาก ซึ่งเป็นความเห็นที่อาจจะเห็นต่างกันได้

ส่วนการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายอุดมกล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแนวคิดเพราะคนที่เสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเหตุผลที่มา 2 ประการ คือ 1. การร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหา 200 ถึง 300 มาตรา ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่งแล้วเพียงพอ อาจจะจำเป็นต้องเชื่อมโยงมาตราอื่นๆ จึงทำให้เห็นว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะดูทั้งหมด 2. สิ่งที่พูดกันมากในคณะกรรมาธิการ คือต้องการเห็นรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนจริงๆ มาจากคนที่ประชาชนให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่เพียงกลุ่มคน ซึ่งเป็นเรื่องความคิดทางการเมืองที่ไม่อาจก้าวล่วงได้

นายอุดมกล่าวว่า ที่ผ่านมาก็เคยมีรัฐธรรมนูญที่มาจาก ส.ส.ร.ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง แต่ความมั่นคงและความเสถียรของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีที่มาจากใคร แต่ก็ทำให้มีความรู้สึกมั่นใจ มากกว่าเอากลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาแต่งตั้ง แต่ในความเป็นจริงคนที่ไปยกร่างรัฐธรรมนูญในเชิงเทคนิค ต้องยอมรับว่าการร่างกฎหมายให้มีการความชัดเจนสอดคล้องกับสังคมต้องการ ไม่ให้ขัดแย้งด้วยกันเอง จึงจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ทั้งเรื่องการใช้ภาษา การเข้าใจที่มาเพื่ออธิบายเหตุผล อาศัยความต้องการอย่างเดียวของประชาชนไม่ได้ ต้องอาศัยความต้องการ บวกกับเทคนิค จึงเห็นควรให้มีสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญใน ส.ส.ร. หรืออาจจะต้องมีคณะกรรมาธิการยกร่างไปดูในรายละเอียดก่อนเสนอต่อ ส.ส.ร. และเสนอสภาผู้แทนราษฎร ส่วนจะกำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ร่วมร่างด้วยหรือเป็นผู้เข้ามาให้ข้อมูล

นายอุดมยืนยันด้วยว่า ประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว พร้อมย้ำว่าหากจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการยกร่างฯ ก็ไม่สามารถกำหนดได้ดั่งใจว่าจะได้สิ่งที่ยกร่างได้ทั้งหมด แต่ก็ต้องรับฟังบุคคลอื่น ทั้งฟังคณะกรรมการด้วยกัน ไปจนถึงประชาชนทั่วไปที่มาแสดงความเห็นทางการเมือง จึงคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่บุคคลซึ่งเคยยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว จะตอบรับง่ายๆ เพราะว่าร่างที่ออกมามีทั้งคนชมและคนตำหนิ จึงเป็นเรื่องที่ลำบากใจสำหรับคนที่จะเข้ามาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะบุคคลที่เคยมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คนที่เคยทำรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ก็รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญที่ยกลากมามีเหตุผล หากมาร่วมแก้ไข ก็รู้สึกว่าลบล้างเหตุผลที่เคยร่างมา

นายอุดมกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็นำส่วนดีๆ ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มา ส่วนสิ่งที่กำหนดขึ้นมาใหม่เนื่องจากบริบทที่เกิดขึ้น เช่นกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้แก้ไขยากขึ้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 เกิดความวุ่นวายจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหลักการสำคัญบางเรื่องมีความเห็นแตกต่างกันจนอาจเกิดความแตกแยก แต่เรื่องสิทธิเสรีภาพแทบจะไม่มีประเด็นอะไรที่ทำให้เห็นต่างกัน เพราะคงไม่มีใครอยากจะลดทอนหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในทางตรงข้ามอยากเพิ่มให้มีมากขึ้น แต่ที่มีการถกเถียงกันคือน่าจะเกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองซึ่งถกเถียงกันทุกยุคทุกสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคมในขณะนั้น

ส่วนกรณีหาก ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดซึ่งจะวนกลับไปที่นักการเมือง นายอุดมกล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดา หากนึกถึงการทำงานที่เป็นหลักฐานการเมืองระบอบประชาธิปไตย สะท้อนการยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่คงไม่ง่ายที่จะหาข้อสรุปที่ยุติและลงตัว หากจะมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็คงจะเป็นความยุ่งยากของสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพราะคงไม่ได้มาในแนวทางความคิดที่ไปในทิศทางเดียวกันเหมือนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เพราะต่างคนต่างมีความรู้สึกความต้องการที่หลากหลายจนหาข้อสรุปได้ยาก ซึ่งเคยมีทั้งถึงขั้นวอล์กเอาต์ ลาออก หากเห็นไม่ตรงกันก็ต้องลงมติ ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาโดยตลอดว่าไม่สามารถเอาใจทุกคนได้ แต่ต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก ซึ่งดูได้จากการเมืองที่ออกมา

ส่วนการคาดการณ์ระยะเวลาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. นายอุดมกล่าวว่า หากต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องมีการกำหนดระยะเวลาไว้อยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เวลายืดยาวมากอาจจะเป็น 240 หรือ 120 วัน ก็แล้วแต่ ตามที่ผู้ที่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดำเนินการ

ส่วนปัญหาในบทเฉพาะกาล นายอุดมกล่าวว่า จะบอกว่าไม่ใช่ กรธ.ยกร่างก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปาก แต่ย้ำว่าอะไรที่อยู่ในบททั่วไปและบทเฉพาะกาล ต่างมีที่มาที่ไปทั้งนั้น อย่างกรณีที่บอกให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ก็เป็นคำถามพ่วงที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ขอให้ไปทำประชามติ จึงออกมาเป็นมาตรา 272 ส่วนการกำหนดให้ ส.ว.บทเฉพาะกาลมี 250 คน ก็เป็นสิ่งที่ คสช.เสนอมา ส่วน กรธ.ก็เสนอให้ 50 คน มาจากการเลือกกันเอง ย้ำว่า กรธ.ไม่ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญตามใจตัวเองทั้งหมด

Let's block ads! (Why?)



"อุดม" - Google News
August 27, 2020 at 02:06PM
https://ift.tt/2YGVwDM

“อุดม” เมินร่วมแก้ รธน. ชี้หากแก้ต้องเป็นตามกลไก ม.256 ย้ำ ส.ส.ร.ควรมีผู้เชี่ยวชาญมายกร่างฯ ด้วย - ผู้จัดการออนไลน์
"อุดม" - Google News
https://ift.tt/2Xo0GUN

No comments:

Post a Comment