ประยุทธ์เรียกร้องให้ประชาชนทำตามกฎหมาย อย่าขัดแย้ง อย่าสร้างภาระให้เจ้าหน้าที่ “รวมใจไทยสร้างชาติ” ไล่นักศึกษากลับไปเรียน ทำผิดกฎหมายแล้วอย่าโทษ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
กฎหมายคืออะไร กฎหมายมีไว้เพื่อใคร
กฎหมายบังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจมีอำนาจตั้งข้อหาหนักเบา อัยการมีดุลพินิจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ส่งศาลวินิจฉัย ผิดไม่ผิด ลงโทษหนักหรือเบา ลดโทษให้เพราะจำเลยมีเกียรติประวัติ เคยทำคุณงามความดีมาก่อน หรือเพิ่มโทษหนัก เพราะจำเลยมีเกียรติประวัติ ควรสำนึกผิดชอบชั่วดี ดันทำผิดเสียนี่
พูดอีกที กฎหมายคือการที่ตำรวจเดินรอบรถมอเตอร์ไซค์ แล้วเจอที่ผิดจนได้ โดยประชาชนเถียงไม่ได้ เพราะมันเป็นกฎหมายไง
กฎหมายก็คือใครต่อใครแปะป้ายรุงรังไปหมดในที่สาธารณะ แต่พอ สนนท.ไปผูกโบทวงความยุติธรรมให้วันเฉลิม กลับผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาด
พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีไว้รักษาระยะห่าง อ้างความปรารถนาดีกลัวติดโควิด แต่งัดมาใช้กับนักกิจกรรมตามหาคนหาย ข่มขู่การเคลื่อนไหว 24 มิถุนา 2475 ทั้งที่ความเป็นจริงคนขึ้นรถเมล์รถไฟฟ้าซื้อของในห้าง แออัดกว่าถมไป
กฎหมายจึงไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรเลย เพราะขึ้นกับใครมีอำนาจใช้ แล้วอำนาจนั้นประชาชนควบคุมได้หรือไม่ ไม่ต้องดูอื่นไกล กฎหมายอเมริกาเน้นสิทธิเสรีเสมอภาค ตำรวจยังเลือกปฏิบัติกับคนดำ เพียงแต่อเมริกา เมื่อสั่งสมความอยุติธรรมถึงจุด สามารถระเบิดออกมาเป็นม็อบ
ตรงข้ามกับประเทศนี้ ม็อบไม่ได้ “ชนชั้นใดร่างกฎหมาย” พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ให้ขออนุญาตตำรวจก่อนวิ่งไล่ลุง แล้วตำรวจที่ไหนจะอนุญาตในเมื่อตำรวจอยู่ใต้ลุง
กฎหมายวันนี้จึงล็อก 2 ชั้น ตั้งแต่การยึดอำนาจมาออกคำสั่งเป็นกฎหมาย ตั้ง สนช.มาปั๊มตราเห็นชอบกฎหมาย ตั้ง กรธ.มาเขียนกติกาสูงสุด เอื้อให้ตัวเองสืบทอดอำนาจ พร้อมกับตั้งองค์กรตรวจสอบอำนาจที่มาจากพวกเดียวกัน
ทั้งออกกฎหมายเอง ทั้งมีอำนาจใช้กฎหมายแบบตู่ๆ แต่ยังอำพรางว่าประเทศนี้ปกครองด้วยกฎหมาย กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนต้องเคารพ
กฎหมายสามารถใช้ให้เกิด 2 มาตรฐานตั้งแต่ต้น เช่น ทำไม นปช.ม็อบหน้าบ้านพลเอกเปรม ติดคุก 2 ปี 8 เดือน ทำไม พธม.ยึดทำเนียบฯ ติดคุก 8 เดือน
ไม่พูดถึงคำพิพากษา ดูแค่การตั้งข้อหา ม็อบปิดถนนสี่เสาเทเวศร์ โดนส่งฟ้องฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ม็อบยึดทำเนียบ 193 วัน โดนข้อหาบุกรุก ทำให้สนามหญ้าไม้ประดับตาย สปริงเกลอร์ไฟสนามเสียหาย
ยกพวกเป็นหมื่นยึดทำเนียบรัฐบาล จงใจทำให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ ตั้งข้อหาแค่เนี้ย ลองยกพวกบุกคฤหาสน์เศรษฐีสิ ยังโดนหนักกว่าเยอะเลย
หรือคดีธเนตร อนันตวงษ์ ศาลให้ความยุติธรรม แต่ติดคุกฟรี 1,396 วัน ใครรับผิดชอบการตั้งข้อหาร้ายแรง แค่โพสต์เฟซบุ๊กและขึ้นรถไฟไปราชภักดิ์ โดนทหารบุกจับถึงโรงพยาบาล จะย้อนเอาผิดใครก็ไม่ได้ เพราะทหารทำตามหน้าที่ รัฐธรรมนูญนิรโทษให้แล้ว
เรื่องแบบนี้ไม่ได้มีแค่ทางการเมือง คดีอาญาเยอะไปที่ศาลยกฟ้อง เพราะหลักฐานอ่อน แต่ตำรวจไม่ต้องรับผิด ทั้งที่จำเลยถูกขังฟรีหรือต้องวิ่งหาหลักทรัพย์ประกัน เสียค่าจ้างทนาย ถ้าฟ้องกลับ ก็มักจะลงท้ายว่า เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน
เรื่องแบบนี้มีมากขึ้นๆ ในยุคอำนาจนิยม เจ้าหน้าที่รัฐเป็นใหญ่ ใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิด ยึดทรัพย์บังคับคดี หนี้หมื่นกว่าบาท ยึดบ้านหลายล้านขายสามหมื่น ไม่ต้องคำนึงถึงความสมเหตุสมผล อ้างได้ว่าทำถูกกฎหมาย
ยิ่งใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยิ่งซ้ำร้าย เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินเหตุก็ไม่ต้องกลัวถูกฟ้องกลับ บางจังหวัดออกคำสั่งไร้เหตุผล ไม่ยอมให้ประชาชนของตัวเองกลับพื้นที่ ผลักภาระให้ตรวจโควิดก่อน ก็ฟ้องศาลปกครองไม่ได้
นับวันกฎหมายจึงยิ่งเป็นภัยกับประชาชน เพียงแต่เวลาใช้อำนาจก็รู้จักอำพรางตน เช่น ในเครื่องแบบท่าทีสุภาพ นอกเครื่องแบบไปขู่ถึงบ้าน หรือจะพาตัวไปเงียบๆ โดยอ้าง “นายขอพบ”
ในสังคมวงกว้าง กฎหมายก็เอาใจดราม่า คดีชาวบ้านออกสื่อ กระแสเฮโลสาระพาไปทางไหน กฎหมายก็ขึงขังเฉียบขาดไปทางนั้น เพื่ออำพรางความอยุติธรรมของระบบ
เราอยู่ในยุคกฎหมายวิบัติ เป็นเครื่องมือให้ผู้มีอำนาจใช้ “ตู่” ตั้งแต่กฎหมายสูงสุด ลงมาถึงกฎหมายชาวบ้าน รัฐและเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุได้ เลือกใช้ได้ โดยไม่ต้องรับผิด
รัฐบาลไม่ต้องรับผิด ไม่ว่าทำอะไรผิดกติกา เพราะอำนาจตรวจสอบเป็นเครือข่ายเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องรับผิด เพราะรัฐราชการเป็นใหญ่ สั่งอะไรต้องเชื่อฟัง
ภายใต้ “กฎหมาย” อย่างนี้ สิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมสำหรับประชาชน จะน้อยลงทุกวัน ไม่ใช่แค่ทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงวิถีชีวิต ใต้คำสั่ง ใต้การควบคุม New Normal อย่างไม่มีทางหวนกลับ
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_4391139
"แห้ง" - Google News
June 28, 2020 at 04:06PM
https://ift.tt/3dGvkxN
ใบตองแห้ง: กฎหมายมีไว้ให้ตู่ - ประชาไท
"แห้ง" - Google News
https://ift.tt/36Q6ERy
No comments:
Post a Comment