สังคมไทยไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีแต่พวกเรียกร้องประชาธิปไตยไป “อารยะขัดขืน” ฉีกหมายเรียกหน้า สน.ปทุมวัน คนส่วนใหญ่สนใจมาตรการคลายล็อกเยียวยามากกว่า เพราะคิดว่าตัวเองไม่เดือดร้อนอะไร หรือบางส่วนก็คล้อยตามรัฐบาลว่าเป็นมาตรการที่ทำให้อุ่นใจ
ทั้งที่เป็นข้ออ้างเหลวไหล ประเทศไทยไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเลยด้วยซ้ำ อำนาจฉุกเฉินใช้เฉพาะเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้าน เคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีสี่ไม่มีผลคุมไวรัส พ.ร.ก.ฉุกเฉินแค่ใช้รวบอำนาจมาไว้ที่นายกฯ โดยมีเลขา สมช.เป็นมือขวา เอาทหารออกมาตั้งด่านร่วมกับตำรวจมหาดไทย
ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็นายกฯ นั่นแหละออกคำสั่ง เพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาล หน่วยงานหลักก็สาธารณสุขกับมหาดไทย เพราะไม่ใช่ฉุกเฉินยิงหัวม็อบ ไม่จำเป็นต้องใช้ทหาร ทำไมจะทำงานไม่ได้ ถ้าบริหารประเทศเป็น แต่กลับอ้างว่าไม่สามารถบูรณาการ
การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนอกจากผลพลอยได้ทางการเมือง สกัดการเคลื่อนไหวจึงมีเหตุผลหลักคือ หนึ่ง ให้ทหารยังมีบทบาท สอง ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องรับผิด เสมือนยังมี ม.44 กำกับควบคุมกิจการต่าง ๆ ไม่ว่าห้างร้าน นวดแผนโบราณ ผับบาร์ อาบอบนวด หรือโรงเรียนอนุบาล
เพราะมาตรการที่ออกมามันคลุมเครือ ปฏิบัติยาก ถูกเอาผิดง่าย แต่ก็โต้แย้งกันได้เยอะ คสช. เอ๊ย ประยุทธ์ จึงให้เจ้าหน้าที่มีสิทธิขาด เสมือนรัฐประหารจัดระเบียบ ผับบาร์อาบอบนวดโต้แย้งไม่ได้ ถ้าถูกชี้ผิดก็ปิดสถานเดียว
เช่นเดียวกับ ผอ.โรงเรียนออกคำสั่ง เรียนวันเว้นวัน หรือแบ่งกันเรียนภาคเช้าภาคบ่าย ผู้ปกครองก็โวยไม่ได้ ต้องรับคำสั่งสถานเดียว
ปัญหาที่น่ามองให้ลึกกว่าฉุกเฉินเฉพาะหน้าคือ สังคมไทยมักหยวนยอมให้รัฐมีอำนาจมากกว่าที่ควรจะเป็น เกินความเหมาะสม เกินสมควรแก่เหตุ โดยคิดว่าไม่เป็นไรน่า เราไม่เดือดร้อน (ไม่ได้ทำผิดแล้วกลัวอะไร) หรือคิดว่าดีเสียอีก จะได้อุ่นใจว่ารัฐมีอำนาจมาก รัฐจะได้ปกป้องเรา
พูดอีกอย่าง ประเทศนี้ชอบให้มีกฎระเบียบเยอะ ๆ จะได้ดูเคร่งครัด เข้มงวดการปฏิบัติ เหมือนกับโรงเรียนตรวจเสื้อผ้าหน้าผม แต่คนส่วนใหญ่ก็ไปหลีกเลี่ยงเอา เจ้าหน้าที่ก็หยวน ๆ ยอม ๆ แต่บางครั้งเลือกปฏิบัติ
ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูมาตรการโควิดก็ได้ เข้าร้านสะดวกซื้อต้องสแกนไทยชนะหรือจดชื่อ ทุกวันนี้ยังมีใครทำบ้าง ส่วนใหญ่ไม่หรอก เพราะรู้แก่ใจโควิดเป็นศูนย์ แต่เลิกไม่ได้นะ เลิกเดี๋ยวมีคนด่า
กฎหมายไทยเป็นเช่นนี้ จนทำให้กฎหมายไม่มีความหมายอะไร อย่างที่ชอบยกตัวอย่างกัน ตำรวจเดินรอบรถมอเตอร์ไซค์ เดี๋ยวก็หาที่ผิดจนได้ เพราะกฎหมายยุบยับไปหมด หรือกฎจราจร บนทางด่วนขีดเส้นทึบ ห้ามเปลี่ยนเลนยาวสิบกิโล ซึ่งเอาเข้าจริงบังคับไม่ได้ ก็หยวน ๆ กันไป แต่วันไหนตั้งกล้องจับ คนขับก็ซวย เหมือนนักศึกษาไปผูกโบว์ โดน พ.ร.บ.รักษาความสะอาด
เช่นเดียวกับกฎหมายรุงรัง ประกอบธุรกิจต้องขออนุญาต บางทีต้องขอเป็นสิบหน่วยงาน ภายใต้กฎหมายเคร่งครัด อยู่ที่ดุลพินิจว่าจะอนุญาตหรือไม่
พ.ร.ก.ฉุกเฉินสำหรับคนทั่วไป จึงมองเป็นกฎหมายที่ไม่มีความหมาย คิดว่าตัวเองไม่เดือดร้อนอะไร ใช้กับนักศึกษา พวกเรียกร้องดีนัก ใช้กับเด็กแว้น รถซิ่ง ปาร์ตี้ เล่นพนัน ดีเสียอีกจะได้ควบคุมผับบาร์อาบอบนวดให้อยู่ในศีลธรรมอย่างเคร่งครัด
แต่ถ้าไปดูประกอบกับมาตรการที่เป็นอุปสรรค ก็ยาแรงอย่างนี้แหละที่ทำให้เศรษฐกิจอัมพาตเกินจำเป็น
แย่ไปกว่านั้น คือทำให้สังคมชินชากับการใช้กฎหมายเกินกว่าเหตุ จนกฎหมายไม่เหลือความชอบธรรม เป็นเพียงกฎรุงรังในสังคม
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/373117
"แห้ง" - Google News
July 02, 2020 at 12:47PM
https://ift.tt/2D1qIpg
ใบตองแห้ง: ฉุกเฉินไม่เดือดร้อน - ประชาไท
"แห้ง" - Google News
https://ift.tt/36Q6ERy
No comments:
Post a Comment