Disrupt สู่ความฝัน - ม็อบปลดแอกจะไปถึงไหน จะเกิดม็อบใหญ่ไล่ตู่ป้อมออกนอกประเทศแบบ 14 ตุลา หรือจะยึดทำเนียบยึดสภา ไล่ 250 ส.ว. แก้รัฐธรรมนูญ เลือกตั้งใหม่ หวังให้ฝ่ายค้านชนะเป็นรัฐบาล
โยนตำราเก่าๆ ทิ้งไปเถอะ นี่มันโลกยุค Disrupt เอาทัศนะประสบการณ์เดิมๆ มาวัดไม่ได้
สถานการณ์วันนี้ประเทศอยู่ท่ามกลางพลัง 2 ระนาบที่ขัดแย้งกันสุดๆ ด้านบน เครือข่ายอนุรักษนิยมคุมโครงสร้างอำนาจไว้หมด เป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นแข็งปั๋ง ทั้งรัฐบาล ทหาร ตำรวจ รัฐราชการ รัฐสภา กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ
ด้านล่าง เกิด “แผ่นดินไหว” จากคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่ต้องการเปลี่ยนรัฐบาล แต่พวกเขาเปลี่ยนไปแล้วทั้งทัศนคติ วัฒนธรรม ค่านิยม วิถีชีวิต ต้องการโลกใบใหม่ที่มีอิสระ สามารถใช้ชีวิตของตัวเอง ไม่ต้องการให้รัฐควบคุมกำกับ ไม่ชอบอำนาจบงการบังคับ ถ้าจะให้ยอมรับ ก็ต้องใช้เหตุผล ถ้าจะให้นับถือก็ต้องทำตัวน่าเคารพ ถ้าจะให้ป๊อป ก็ต้องสร้างความนิยม
อย่างที่เห็นกันว่า เด็กนักเรียนชูสามนิ้ว ไม่ใช่แค่ประท้วงรัฐบาล แต่ต่อต้าน “เผด็จการ” อำนาจนิยมในโรงเรียนเป็นด่านแรก
ความต้องการของคนรุ่นใหม่ จึงไปไกลกว่าการเปลี่ยนรัฐบาล หรือความต้องการได้อำนาจรัฐ ตรงกันข้ามเลยคือปฏิเสธอำนาจ ไม่ต้องการให้รัฐมีอำนาจมาก ไม่ต้องการให้มายุ่มย่าม อยากให้รัฐมีอำนาจจำกัด มีขนาดกะทัดรัด ไม่เปลืองภาษี ขอเพียงมีรัฐสวัสดิการระดับหนึ่ง ในโลกยุค Disrupt ที่พวกเขาต้องเผชิญชีวิตด้วยตัวเอง ไม่มีความมั่นคงเหมือนคนรุ่นพ่อแม่
ไปดูความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ ในเรื่องชีวิตการงาน ที่ต้องการเป็นอิสระ เป็นนายตัวเอง ก็จะเข้าใจความต้องการทางการเมืองของพวกเขาเช่นกัน
ความคิด ความต้องการ ค่านิยมที่แตกต่างสวนทาง ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับคนรุ่นใหม่ จึงไม่สามารถจบด้วยการไล่รัฐบาล หรือแม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่จะต่อสู้กันไปตลอดทุกกระบวนการ เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงนอกสภา นอกโครงสร้างอำนาจ ไม่ได้ยึดอำนาจรัฐ แต่ยึดพื้นที่ความคิด
เราจึงเห็นสงครามในโลกออนไลน์ บอยคอต #แบน ทัวร์ลง สลับกับการลงถนน ซึ่งไม่ได้มุ่งเอาชนะโดยม็อบ แต่เป็นการแสดงพลัง ตั้งข้อเรียกร้องกดดัน พร้อมกับสร้างความคึกคัก หลากหลาย ประกวดประชันการแสดงออกในรูปแบบเนื้อหาต่างๆ ระหว่างจังหวัด ระหว่างมหาวิทยาลัย ระหว่างโรงเรียน
มองอีกแง่ การก่อม็อบแบบ disrupt ก็สมน้ำสมเนื้อกับอำนาจรัฐใหญ่โตมโหฬาร ที่สร้างมาจาก 5 ปีรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งพันธนาการไว้ทุกด้าน ทำให้ไม่สามารถเอาชนะด้วยการต่อสู้ในรัฐสภา หรือการสร้างม็อบใหญ่แบบเดิมๆ (ซึ่งก็จะถูกปราบ)
ลองคิดดู สมมติม็อบโค่นรัฐบาลนี้ลงได้ พรรคเพื่อไทยพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ก็ไม่พ้นหนังม้วนเก่า โดนเล่นงานด้วยตุลาการภิวัตน์
แม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นยกร่างใหม่ ก็ว่าไปตามหลักการ แต่หวังอะไรได้ไม่มาก ส.ส.ร.ไม่ใช่ผู้วิเศษ เดี๋ยวก็มาจากคนของรัฐบาล เดี๋ยวก็มาจากอธิการบดี ฯลฯ อาจมีบางด้านดีขึ้น แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะล้างโครงสร้างอำนาจ
ม็อบ Disrupt จึงเป็นสมดุลธรรมชาติที่สร้างมาต่อกรกับระบอบอำนาจแข็งปั๋ง เป็นการปะทะทางความคิดสลับกับเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก แสดงความไม่ยอมรับนับถือต่ออำนาจ ทำลายความชอบธรรมของอำนาจ โดยไม่ปะทะตรงๆ ไม่ไล่ทันที ไม่ยึด อย่างมากก็ค้างคืน สลับไปโผล่ที่นั่นที่นี่ แย่งชิงพื้นที่สื่อ รุกทางโลกออนไลน์ รุกทางข้อเรียกร้อง กระทั่งเรื่องที่มองกันว่า “สุ่มเสี่ยง” ก็รุกๆๆ จนรัฐไม่รู้จะปิดปากอย่างไร
นี่คล้ายกับม็อบฮ่องกง แต่ไม่เหมือนม็อบฮ่องกง ดัดแปลงมาอยู่ในสถานการณ์แบบไทยๆ แล้วก็กัดกร่อนทำลายอำนาจรัฐโดยธรรมชาติ เช่น การประท้วงอำนาจจับกุมของตำรวจ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ไม่ยอมรับความชอบธรรม ทำให้กฎหมายเป็นกระดาษ
การต่อสู้ในรูปแบบนี้ เครือข่ายอำนาจจะทำรัฐประหารก็ไม่มีประโยชน์ แม้ทำได้ทุกเมื่อ มีประโยชน์อะไรที่จะรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง ซึ่งมีอำนาจล้นอยู่แล้ว มีประโยชน์อะไรที่จะฉีกรัฐธรรมนูญตัวเอง ซึ่งพันธนาการไว้หมดแล้ว รัฐประหารปราบความคิดคนไม่ได้ ถ้าจะทำก็ต้องกวาดจับนักเรียนนักศึกษาประชาชนเป็นพันๆ ปิดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เกิดความเสียหายมากมาย สุดท้ายก็ซ้ำรอยเดิมคือยิ่งสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาต่อต้าน
ม็อบ Disrupt คือการต่อสู้เพื่อทำลายอำนาจ โดยไม่จำเป็นต้องช่วงชิงอำนาจ แต่ช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด Disrupt ความคิดเก่า ประสานไปกับการรื้อล้างกลไกเผด็จการ แก้รัฐธรรมนูญ ไล่ 250 ส.ว. ต่อต้านการคุกคาม เป็นฝ่ายรุกไล่ในพื้นที่ทางสังคม
นี่ต้องอาศัยความอดทน รักษาระดับการเคลื่อนไหวที่เหมาะสม แต่สาระแหลมคม สร้างสรรค์รูปแบบหลากหลาย “ความฝัน” ของคนรุ่นใหม่ ไม่สามารถชนะด้วยกำลัง ที่แตกต่างมโหฬาร แต่สามารถบรรลุได้ด้วยการเปลี่ยนความคิดในโลกที่เปลี่ยนแปลง
"แห้ง" - Google News
August 28, 2020 at 09:32PM
https://ift.tt/2EFWR6H
ใบตองแห้ง - Disrupt สู่ความฝัน - ข่าวสด
"แห้ง" - Google News
https://ift.tt/36Q6ERy
No comments:
Post a Comment