พรรคก้าวไกลถอนชื่อจากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วยกับการตั้งเงื่อนไข “ห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2”
นักให้ร้ายป้ายสีเอาไปโจมตีทันทีว่า พรรคก้าวไกลจะแก้ไขหมวด 2 นักร้องก็ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปยื่นยุบพรรค
ทั้งที่เป็นการเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างใหม่ทั้งฉบับ พรรคร่วมฝ่ายค้านกับพรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องกันโดยมิได้นัดหมาย (?) ว่าไม่ให้ ส.ส.ร.แก้ไขหมวด 1 หมวด 2
มีแต่พรรคก้าวไกลที่เห็นว่า ควรเปิดพื้นที่ให้ ส.ส.ร.หารือตัดสินใจกันเอง ทำไมต้องบล็อกไว้ ถึงอย่างไร ส.ส.ร.ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขในมาตรา 255 “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้”
รัฐธรรมนูญ 2560 ห้ามแก้ไข 2 หมวดนี้หรือไม่ ไม่ได้ห้ามเลย เพียงเขียนไว้ในมาตรา 255 ดังกล่าว คือจะแก้อย่างไรก็ต้องคงความเป็นรัฐเดี่ยว เป็นราชอาณาจักร เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ซึ่งตีความได้กว้างมาก รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา หมวด 1 หมวด 2 ก็เขียนต่างกัน ไม่ได้ก๊อบกันมาทุกตัวอักษร
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256(8) บัญญัติไว้ว่าถ้าจะแก้หมวด 1 หมวด 2 หมวด 15 คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ศาลองค์กรอิสระ ฯลฯ ต้องทำประชามติ
ซึ่งแปลว่าไม่ได้ห้ามแก้ แต่ถือเป็นสาระสำคัญ ถ้าจะแก้ต้องทำประชามติ (ครั้งนี้ก็ต้องทำประชามติอยู่ดี ทั้งตอนแก้ 256 และหลัง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภาแล้ว)
พึงเข้าใจว่า ส.ส.ร.ไม่ได้ลอยมาอย่างบริสุทธิ์ อย่าคาดหวังว่าตั้งมา 100 คนจะเป็นผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจ๋า มันก็จะมาจากทุกภาคส่วนทุกความคิด ไม่ใช่ 100 คนเป็นของพรรคก้าวไกลเสีย 80 คน ตรงข้าม จะมีคนของพรรคร่วมรัฐบาล รัฐราชการ ศาล องค์กรอิสระ เข้ามาเกินครึ่งด้วยซ้ำ
ฉะนั้นในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถแก้หมวด 2 หรอก เพียงแต่ถ้าไม่บล็อกไว้ ก็จะมีคน “พูดได้” เมื่อกำหนดเงื่อนไขก็เท่ากับ “ปิดปาก”
มิหนำซ้ำยังโหมกระหน่ำกระแสร้ายแรงว่า ใครเสนอ “ความฝัน” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรูปแบบที่แตกต่าง เท่ากับจาบจ้วงล่วงละเมิด
ทั้งที่รัฐธรรมนูญไทยในอดีต ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาตั้งแต่ปี 2475 ก็เขียนแตกต่างกัน เอาแค่ยุคใกล้ รัฐธรรมนูญหมวด 2 ก็มีการแก้ไขในปี 2517, 2534 และ 2560
หมวด 1 ยิ่งแล้วใหญ่ ไม่เหมือนกันเลย แม้มาตรา 1 เหมือนกัน “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” มาตรา 2 “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” บางฉบับก็เขียนว่า “เป็นประมุข” (2521) บางฉบับก็เขียนว่า “ทรงเป็นพระประมุข” (2534)
รัฐธรรมนูญ 2540 สสร.ถกเถียงกันหนัก จะใช้คำว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” หรือ “มาจาก” รัฐธรรมนูญ 2517 ใช้คำว่า “เป็นของ” แต่รัฐธรรมนูญรัฐประหารหลังจากนั้นใช้คำว่า “มาจาก” ด้วยกระแสประชาธิปไตย สุดท้าย “เป็นของ” ชนะ
แต่ก็แค่นั้นแหละ รัฐประหาร 49, 57 รัฐธรรมนูญ 2550, 2560 ยังใช้คำว่า “เป็นของ” ทั้งที่ยึดไปหมดแล้ว
รัฐธรรมนูญ 2517 มีมาตรา 4 “การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้” แต่หลังถูกฉีกในวันที่ 6 ตุลา 2519 ก็ไม่ปรากฏอีกเลย มีแต่นิรโทษกรรมรัฐประหาร
รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 3 เพิ่มคำว่า “หลักนิติธรรม” ซึ่งทำให้คำคำนี้มีความหมายทางลบทันที จากการใช้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ เลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน (“หลักนิติธรรม” ยังอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้สืบทอดอำนาจ ตั้ง 250 ส.ว.โหวตตัวเอง)
จะเห็นได้ว่า หมวด 1 ไม่ควรห้าม เพราะหลักสำคัญเรื่องราชอาณาจักร รัฐเดี่ยว ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังไงก็ต้องยึดมั่น แต่ถ้อยคำเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม การกระจายอำนาจ สามารถเขียนให้ชัดเจนขึ้น ตามที่จะแก้ไขในหมวดที่เป็นรายละเอียด
ส่วนหมวด 2 ในทางปฏิบัติ ฟันธง แก้ไม่ได้ แต่ประเด็นที่ถกเถียงกัน คือจะห้ามพูด หรือจะยอมให้เสนอความเห็นต่าง “ความฝัน” ของเยาวชน (ที่ยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) แล้วพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล
ย้ำอีกครั้งว่า ส.ส.ร.ไม่ใช่สวรรค์ของฝ่ายประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้ดีวิเศษเพราะ ส.ส.ร. แต่เพราะกระแสประชาธิปไตยในยุคนั้น
ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน การตั้ง ส.ส.ร.จึงหวังไม่ได้มาก แค่หวังว่ากระแสประชาชนจะกดดันให้แก้รัฐธรรมนูญดีขึ้นบางด้าน เช่นแก้ไขได้ง่ายขึ้น แก้ระบบเลือกตั้ง โละ 250 ส.ว.
แต่เรื่องที่เป็นหลักการประชาธิปไตยนั้นอย่าหวัง กระทั่งเรื่องลดอำนาจเปลี่ยนที่มาองค์กรอิสระ ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ไม่ยอมอยู่ดี
การตั้ง ส.ส.ร.แก้รัฐธรรมนูญ ณ วันนี้ จึงสายไป ล้าหลังห่างไกลจากความเรียกร้องต้องการของม็อบประชาธิปไตย ถ้ายิ่งยื้อซื้อถ่วงเวลา ยิ่งไปกันใหญ่
เพราะม็อบจะมุ่งไล่ 250 ส.ว. ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แล้วค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับดีกว่า
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/newspaper-column/news_4759188
"แห้ง" - Google News
August 24, 2020 at 01:12PM
https://ift.tt/2Erb9bc
ใบตองแห้ง: รธน.ห้ามแก้2หมวด? - ประชาไท
"แห้ง" - Google News
https://ift.tt/36Q6ERy
No comments:
Post a Comment