อ่านข่าว ผบ.ตร. อ้างว่าอาวุธสงครามที่จับได้ตามแนวชายแดน เตรียมไว้เคลื่อนไหวการเมือง แล้วหวนมาปรามคนรุ่นใหม่ ที่จะจัดกิจกรรม 88 ปี 24 มิ.ย. 2475 ขู่เอาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หาว่าถูกชักจูง ฯลฯ ถามว่าประชาชนเชื่อหรือไม่
ก็ไม่ต่างอะไรกับประยุทธ์ เห็นแผนบรรยินแหกคุก ระเบิดภูเขาเผากระท่อม ปีนเสาธงไปขึ้น ฮ. จับเมีย ผบ.เป็นตัวประกัน ฯลฯ แล้วขำกลิ้ง ดูหนังเน็ตฟลิกซ์มากไปหรือเปล่า
คนรุ่นใหม่ที่รัฐหัวโบราณยัดข้อหา “ชังชาติ” ทุกวันนี้เคลื่อนไหวอยู่ในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ส่วนใหญ่เรียนมหาวิทยาลัย เป็นคนชั้นกลางในเมือง แม้เกลียดรัฐบาลแต่โดยวิถีชีวิตไม่ใช่คนที่จะไปฝึกอาวุธรบกับตำรวจทหาร
แม้กระทั่งมวลชนเสื้อแดง ที่ยัดข้อหา “ฮาร์ดคอร์” 6 ปีรัฐประหาร ก็ถูกกวาดล้างหมดสิ้น “โกตี๋ตายนานแล้ว” ยังพบคลังอาวุธสงครามยังอ้างได้ตลอด มันน่าย้อนถามว่าตำรวจทหารไร้ประสิทธิภาพหรือเปล่า 6 ปียังมีอาวุธสงคราม
อาวุธเป็นของใครไม่ทราบ แค่อ้างหน่วยข่าว หาว่าเตรียมไว้เคลื่อนไหวการเมือง ก็ไม่ใช่ “เฟคนิวส์” ทั้งที่รู้กันว่า ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้จัดรำลึก 24 มิถุนายน 2475
แล้วยังขู่จะเอาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งที่ประยุทธ์ปฏิเสธว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้มีไว้ใช้ทางการเมือง แต่ยังอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีความจำเป็น ไม่อย่างนั้นควบคุมโรคไม่ได้ ทั่วโลกยังมีคนติดโควิดเกือบสิบล้าน
ทำท่าจะไม่เลิกใช้ จนกว่าโควิดเป็นศูนย์ทั้งโลก 28 วัน
พูดมาหลายครั้งว่า ประยุทธ์ไม่ได้มุ่งใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทางการเมือง แต่ใช้เพราะบริหารไม่เป็น เก่งแต่ใช้ ม.44 เจ้าหน้าที่ก็เคยชินกับการใช้อำนาจ บังคับให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามจึงชอบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมันง่ายดี ใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิด
กระนั้น ก็มีการใช้อำนาจฉุกเฉินทางการเมืองมากขึ้น ๆ เช่น ใช้เอาผิดคนรำลึก 10 ปีพฤษภา 53 คนทำกิจกรรม 6 ปีรัฐประหาร คนเรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จนชาวบ้านสงสัยว่า ถ้ารัฐบริสุทธิ์ใจ ทำไมต้องเอาผิด น่าจะแสดงน้ำใจ สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อมนุษยธรรม ไม่ดีกว่าหรือ
มองอีกมุมคือ หลังจากตีขลุม “ไทยชนะ” ปราบโควิด ก็คิดจะฉกฉวยทางการเมือง ทั้งอ้างเป็นผลงานประยุทธ์ ทั้งขยายอำนาจรัฐราชการ ฟื้นการปกครองแบบพ่อเมืองเป็นใหญ่ ผนึกกลไกรัฐผ่านอำนาจฉุกเฉิน ทหาร ตำรวจ อำเภอ อสม. กำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวกันไล่จับคนไม่เชื่อฟัง
จากนั้นก็ “ล้อมปราบ” ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนคัดค้าน โดยอ้าง “ไทยสร้างชาติ” New Normal สังคมต้องเชื่อฟังคำสั่ง ไม่งั้น “ห่ากิน” ตายทั้งเมือง
ขณะที่ด้านการเลือกตั้ง ก็เป็นอย่างเลือกซ่อมการเมืองย้อนยุคสู่ระบบอุปถัมภ์ ล็อบบี้กัน ฮั้วกัน ใครมีอำนาจได้เปรียบ ประชาชนไม่มีทางเลือก หากหวังพึ่งงบพัฒนาก็ต้องเลือกรัฐบาล
ระบอบประยุทธ์ขยายอำนาจครอบงำ ทั้งอำนาจรัฐราชการ และฝ่ายการเมือง แม้คนบางส่วนไม่ยอมรับนักการเมือง ก็ปลื้มรัฐราชการ ชื่นชมตำรวจผู้ว่าฯ
พลังประชาธิปไตยในชนบท ถูกทำให้กระจัดกระจาย ไม่สามารถเคลื่อนไหวใต้กลไกรัฐปึกแผ่นเหลือแต่พลังคนรุ่นใหม่ ที่รัฐประยุทธ์เอาไม่ลง แม้ใช้อำนาจกดขู่ “ล้อมปราบ” ทุกวิถีทาง แต่ทำได้ไม่ง่าย เพราะแม้คนออกมาเคลื่อนไหวน้อย แต่ 90% ของ Gen-Z ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตภพ ติดแฮชแท็กแต่ละครั้ง รัฐล้าหลังหวาดผวา
จำนวนคนรุ่นใหม่อาจไม่มาก แต่นี่คือรัฐกำลังรบกับคนเจเนอเรชั่นหนึ่ง ซึ่งเติบโตไม่ขาดสาย เป็นเจเนอเรชั่นที่รัฐและสังคมมุ่งหวังให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ปรับตัวสร้างเศรษฐกิจใหม่ รับมือโลกยุคใหม่
แต่พลังนี้กำลังถูกรัฐมองเป็นปรปักษ์ มุ่งสยบให้ศิโรราบ เป็นเด็กหัวอ่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/371548
"แห้ง" - Google News
June 26, 2020 at 02:00PM
https://ift.tt/3ez26C0
ใบตองแห้ง: ปรปักษ์คนรุ่นใหม่ - ประชาไท
"แห้ง" - Google News
https://ift.tt/36Q6ERy
No comments:
Post a Comment